การเดินทางของพระแก้วมรกต

Last updated: 23 ก.ย. 2562  |  3807 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การเดินทางของพระแก้วมรกต

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทยมาช้านาน โดยประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่ง BLT จะมาเล่าถึงประวัติความเป็นมาของพระแก้วมรกต ที่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร และมีหลักฐานทางโบราณคดี เชื่อว่าถ้าได้อ่านแล้วจะอิ่มความรู้กันเลยทีเดียว

พระแก้วมรกต ไม่ได้เป็นเพียงพระพุทธรูปองค์ลอยๆ เหมือนองค์อื่นๆ ทั่วไป
พระพุทธรูปองค์นี้ ถูกแกะสลักขึ้นจากหินที่เรียกว่า “หยกอ่อน” หรือ “เนฟไฟรต์” ซึ่งมีสีเขียวเข้มคล้ายสีของมรกต และเนื่องจากเป็นหินใส ไม่ทึบแสง โดยนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดี ได้จัดให้อยู่ในรูปแบบของสกุลช่างศิลปะก่อนเชียงแสน - ศิลปะเชียงแสน หรือสมัยล้านนายุคต้น มีความแตกต่างจากพระพุทธรูปองค์อื่นๆ ตรงที่ด้านใต้องค์พระมีเนื้อหินยาวต่อเนื่องจากองค์พระพุทธรูปลงไปในลักษณะเป็นเดือยขนาดใหญ่ ถือได้ว่าหินหยกแท่งนี้ถูกนำมาสลักเป็นพระพุทธรูปเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น และส่วนที่เหลือ ก็ไม่ได้มีการตัดออก ให้กลายเป็นพระพุทธรูปองค์ลอยๆ แต่อย่างใด

เดิมทีพระแก้วมรกต ถูกพอกด้วยปูน และซ่อนไว้ในพระเจดีย์ จ.เชียงราย
พระแก้วมรกตถูกค้นพบในกรุของพระเจดีย์ ในปี พ.ศ.1979 ที่วัดป่าเหี้ยะ จ.เชียงราย หรือวัดพระแก้ว เชียงราย ในปัจจุบัน จากเหตุการณ์ฟ้าผ่าลงที่องค์พระเจดีย์จนพังทลายลง จึงเห็นว่าด้านในมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ ทางวัดจึงอัญเชิญออกมาประดิษฐานที่ศาลาวัด เมื่อโดนลมโกรกและไอแดดไม่นาน ปูนที่หุ้มองค์พระแห้งร้าว และเกิดรอยกระเทาะบริเวณปลายพระนาสิกทำให้เห็นสีเขียวอยู่ด้านใน เจ้าอาวาสจึงให้นำปูนออกจนหมด จนเหลือเพียงพระพุทธรูปหินแก้วสีเขียว และเรียกขานกันว่า พระแก้วมรกต

เคยถูกอัญเชิญให้ไปประดิษฐานที่เชียงใหม่ 
เมื่อพระเจ้าสามฝั่งแกน ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ทรงทราบถึงการพบพระแก้วมรกต ก็ทรงจัดกระบวนช้างไปอัญเชิญพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงราย เพื่อมาประดิษฐาน ณ เมืองเชียงใหม่ เมื่อเดินลงมาถึงทางสามแพร่ง โดยทางเลี้ยวขวาเป็นทางไปเมืองลำปาง ทางเลี้ยวซ้ายไปเชียงใหม่ ซึ่งทั้งเชียงราย และลำปางต่างก็เป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่อยู่ในขณะนั้น แต่ช้างทรงกลับเดินเลี้ยวขวาไปถึง 3 ครั้ง พระองค์จึงทรงคิดว่า ผีที่ปกปักรักษาไม่ต้องการจะมาสถิตที่เชียงใหม่ จึงอัญเชิญให้ไปประดิษฐานอยู่ที่วัดพระแก้วดอนเต้า เมืองลำปางแทน

หลังจากที่พระแก้วมรกต ประดิษฐานอยู่ที่เมืองลำปางอยู่นาน 32 ปี เมื่อถึงรัชกาลของพระเจ้าติโลกราช พระองค์โปรดให้ไปอัญเชิญพระแก้วมรกตกลับคืนมา ณ เมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2011 ซึ่งก็เป็นไปได้อย่างราบรื่น ได้โปรดให้ประดิษฐาน อยู่ที่พระมหาเจดีย์ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร 

ถูกยืม และไปประดิษฐานอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์
ในปี พ.ศ.2088 ราชบัลลังก์เมืองเชียงใหม่ว่างลง เหล่าข้าราชการจึงไปทูลเชิญสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช ซึ่งมีเชื้อสายของล้านนาไทยจากกรุงศรีสัตนาคนหุต หรือหลวงพระบาง เพื่อมาครองเมืองเชียงใหม่ หลังจากที่ปกครองได้ไม่นาน คือในช่วง พ.ศ.2089 - 2090 พระองค์ก็กลับไปครองเมืองหลวงพระบางต่อจากพระบิดา โดยขอยืมพระแก้วมรกต และพระพุทธสิหิงค์กลับไปด้วย โดยทรงอ้างว่าจะให้พระญาติได้กราบไหว้บูชา เมื่อเสนาบดีเชียงใหม่ไปทูลขอคืน พระองค์กลับคืนมาแค่พระพุทธสิหิงค์เพียงองค์เดียว ต่อมาในปี พ.ศ.2107 พระองค์ทรงย้ายราชธานีจากหลวงพระบางไปอยู่ที่เวียงจันทน์  หรือเรียกว่าเวียงจันทน์ล้านช้าง เพื่อป้องกันการรุกรานจากพม่า โดยอัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานอยู่ที่เวียงจันทน์ด้วย ซึ่งสถานที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตคือ หอพระแก้ว เวียงจันทน์ ตั้งอยู่ที่นครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว แต่ปัจจุบันเหลือเพียงพระแท่นประดิษฐานเท่านั้น เพราะพระแก้วมรกตได้ถูกอัญเชิญลงมาประทับที่ประเทศไทยนั่นเอง

พระประธานของประเทศ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย
หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชคืนมาจากพม่า ทรงให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไปตีเมืองเวียงจันทน์ เพื่อให้เป็นประเทศราชของสยามดังเดิม ในปี พ.ศ.2321 พร้อมทั้งอัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมาสู่กรุงธนบุรีด้วย และอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่ วิหารน้อย วัดอรุณราชวราราม

เมื่อเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเสด็จขึ้นครองราชย์ และได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ทรงย้ายราชธานี และสถาปนากรุงเทพฯ ขึ้นในปี พ.ศ.2325 จากนั้นโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อสร้างแล้วเสร็จพระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานไว้ที่วัดแห่งใหม่นี้ ในปี พ.ศ. 2327 เพื่อให้เป็นพระประธาน พระคู่บ้านคู่เมืองของแผ่นดินสยาม ทั้งยังพระราชทานนามให้ว่า พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ซึ่งคล้องกับชื่อของกรุงเทพมหานคร

เชือกที่อยู่ด้านหลังพระแก้วมรกต มีไว้สำหรับดึงองค์พระขึ้นหากเกิดเภทภัย
หากมองไปยังด้านหลังองค์พระแก้วมรกต บริเวณผนังจะเห็นเชือกห้อยลงมาจากเพดาน ที่ผูกแขวนเอาไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งมีไว้เพื่อคล้อง และดึงองค์พระขึ้น ออกจากบุษบก ขณะเกิดเหตุเพศภัยต่างๆ จนเมื่อในสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดไฟฟ้าลัดวงจร และมีเหตุไฟไหม้ที่พระพุทธปรางคปราสาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้เสด็จมาดึงองค์พระออกจากบุษบกด้วยพระองค์เอง และให้ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งอมรินทร์ และเมื่อเหตุการณ์สงบลง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำบุญสมโภช และอัญเชิญกลับไปประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเช่นเดิม

พระแก้วมรกตน้อย พระแก้วมรกตองค์ย่อม
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งประทับอยู่ ณ ประเทศรัสเซีย ติดต่อกับ มร.ปีเตอร์ คาร์ล ฟาแบร์เช ศิลปินทำเครื่องเพชร เครื่องพลอย และอัญมณีที่มีชื่อเสียงประจำราชสำนักของรัสเซียในสมัยนั้น เพื่อนำหินเนฟไฟรต์มาสลักเป็นพระแก้วมรกตเพิ่มอีกองค์ โดยให้มีลักษณะ และขนาดเท่ากับของเดิมทุกประการ แต่เมื่อใกล้เสร็จพระพุทธรูปแตกลงมาทั้งองค์ กลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย พระองค์จึงโปรดเกล้าให้ทำขึ้นใหม่ แต่ให้มีลักษณะแตกต่างไปจากเดิม และพระราชทานนามให้ว่า พระแก้วมรกตน้อย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่หอพระสุราลัยพิมาน พระบรมมหาราชวัง ส่วนเศษหินที่แตกก็โปรดเกล้าฯ ให้ คาร์ล ฟาแบร์เช แกะสลักเป็นพระพุทธรูปเล็กใหญ่ตามขนาดหิน และพระราชทานให้กับพระราชโอรส ในรัชกาลที่ 5 ทุกพระองค์

พระมหากษัตริย์จะทรงประกอบพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรง ในวันเริ่มฤดูเป็นประจำทุกปี
จากการรับอิทธิพลของศาสนาฮินดู ที่จะมีการทำเครื่องสักการะบูชา และเครื่องทรงถวายเทพเจ้า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช อัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากเวียงจันทน์ ซึ่งไม่ได้มีการประดับเครื่องทรงใดๆ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องทรงถวายเป็นพุทธบูชา คือเครื่องทรงฤดูร้อน และฤดูฝน เมื่อถึงในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องทรงฤดูหนาวถวายเพิ่มอีกหนึ่งชุด ซึ่งเป็นผ้าคลุมตาข่ายทองคำที่ห่มทับลงไปบนเครื่องทรงฤดูฝน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรจึงมีเครื่องทรงครบ 3 ฤดู และถือเป็นต้นกำเนิดพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงทั้งสามฤดูทุกปีมาจนถึงปัจจุบัน

ซึ่งเมื่อเครื่องทรงมีอายุเก่าแก่มากกว่า 200 ปี ทำให้เครื่องทรงทั้ง 3 ฤดูมีสภาพชำรุดไปตามกาลเวลา กรมธนารักษ์จึงกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างเครื่องทรงชุดใหม่ขึ้นทดแทน เพื่อใช้ประกอบพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงตามฤดูกาลตามโบราณราชประเพณี และถวายเป็นพุทธบูชา โดยเริ่มจัดสร้างในปี พ.ศ. 2538 จนแล้วเสร็จทั้ง 3 ฤดูในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเครื่องทรงชุดใหม่นี้ เป็นชุดที่ใช้ในพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงในปัจจุบัน

ที่มา https://www.bltbangkok.com/TravelersList

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้