ความเป็นมาของ “พระแก้วมรกต”

Last updated: 7 ต.ค. 2562  |  3414 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ความเป็นมาของ “พระแก้วมรกต”

ความเป็นมาของ “พระแก้วมรกต“

พระพุทธรูปซึ่งจะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง และความสุข มาสู่ดินแดนผู้ที่ครอบครอง จะทำให้ประเทศซึ่งเป็นประดิษฐาน มีอำนาจเหนือดินแดนใดๆ และกษัตริย์ผู้ปกครองดินแดนเหล่านี้ก็จะอยู่เหนือกษัตริย์อื่นๆ ทุกพระองค์ ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมาหลายดินแดนจึงหมายปอง อยากที่จะได้พระแก้วมรกตมาไว้ในความครอบครอง แด่บ้านเมืองของตน และเชื่อว่าหากพระแก้วมรกต ประดิษฐานอยู่ในประเทศใด “ พุทธศาสนา ในประเทศนั้นจะเจริญรุ่งเรือง จะไม่ว่างจากพระอริยบุคคล ” นั่นเอง  และเนื่องจากเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่มาก หลักฐานทางประวัติศาสตร์ยุคแรกๆ อาจเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้ครบถ้วน เพื่อให้เหมาะกับพื้นที่เนื้อหา จึงจะเล่าโดยย่อแบบรวบรัด โดยไม่รวมเนื้อหาที่พิสูจน์ได้ยาก เพื่อให้ได้จมดิ่งลงไปในภวังค์อดีต ตื่นตะลึงกับพระปรีชาสามารถ ของพระมหากษัตย์ไทย ที่ทรงส่งต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญอัศจรรย์นี้ มาจนถึงรุ่นพวกเราปัจจุบัน

ดินแดนของไทยที่อยู่ตั้งแต่ เชียงแสน กำแพงเพชร ละโว้ อโยธยา ไชยา นครศรีธรรมราช ดินแดนแห่งนี้มีการรบพุ่ง กับพวกมอญทางด้านตะวันตก และเขมรทางดินตะวันออก ผลัดกันแพ้ชนะกันมาหลายยุคหลายสมัย คนไทยโบราณที่อยู่ทางล้านนา เรียกว่าคนโยนก (ไทยเหนือ), คนที่อยู่ทางละโว้ อโยธยา ไชยา นครศรีธรรมราช เรียกว่า กัมโพช (ไทยใต้) ต่อมาเมื่อคนไทยที่มีแม่เป็นเขมรมีอำนาจมาก ไทยเหนือ เลยเรียกไทยใต้ว่า เป็นพวกขอมไปหมด

พ.ศ.1180 มังมหาอโนรธาช่อ หรือ พระเจ้าอนุรุทธราชาธิราช กษัตริย์พม่า / มอญ ในสมัยนั้นได้ยกกองทัพมาตีกรุงทวาราวดี (ตอนกลางประเทศไทยปัจจุบัน)ลูกหลานของกษัตริย์ พวกแรกจึงอพยพหนีลงมาตั้งเมืองที่นครโพธิ์ที่ไชยา พวกที่สองไปตั้งนครละโว้ ขึ้นเป็นเมืองหลวง เมืองต่างๆ ของคนไทยทางแดนล้านนา ตกอยู่ภายใต้การปกครองของมอญและพม่าเป็นเวลานานมาก จนนิยมใช้จุลศักราช กษัตริย์ในดินแดนล้านนาไปชุมนุมกันทั่ว ยกเว้นแต่กษัตริย์ที่นครหริภุญชัย (ลำพูน) และสวรรคโลก (สุโขทัย)

พระเจ้ากากวรรณดิศราช โอรสพระเจ้าอนุรุธ ยกทัพมาตีเมืองละโว้ ถึง 7ปี แล้วมาตั้งพระปฐมเจดีย์ที่นครปฐม (ต่อมา รัชกาลที่ 4 บูรณะใหม่) ประมาณ พ.ศ.1205 พระเจ้ากรุงละโว้ จึงได้ส่งพระนางจามเทวีไปครองนครหริภุญชัย

พ.ศ.1232 ปรากฏว่ารัฐต่างๆ ในแถบทะเลใต้มีรัฐพานพาน (เวียงสระ) รัฐไฮลิง (ตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช) ปองพอง (ปาหัง) กิลันตัน (กลันตัน) ปลึกฟอง (ปาเลมบัง) และรัฐอื่น ๆ อีก 10 รัฐ เข้ารวมกันเป็น “อาณาจักรศรีวิชัย”เมืองหลวงคือ นครโพธิ์ไชยา หรือ นครปาตลีบุตร มีกษัตริย์ที่ครองเมือง ทรงพระนามว่า พระอินทรวรมเทวะ เป็นลูกหลานกษัตริย์ พระเจ้ากรุงทวาราวดีที่อู่ทอง

สมัยโบราณนั้น พระมหากษัตริย์องค์ใดที่เลื่อมใสในศาสนา ทำให้พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง จะเป็นที่ยกย่องของคนทั่วไป เมื่อสวรรคตแล้วจะมีการสร้างเจดีย์ หรือพระพุทธรูปอุทิศถวาย เพื่อเป็นความหมายของนิพพานธรรม สมัยนั้นพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก พระราชบุตรกษัตริย์ พระอินทร์วรมเทวะ คือ พระวิษณุกรรมเทพบุตร มีฝีพระหัตถ์ในการหล่อพระพุทธรูปที่สวยงามจำนวนมาก

พระนาคเสนเถระ บวชเป็นพระ ณ นครโพธิ์ไชยา ได้ปวารณา จะสร้างพระพุทธรูปให้สืบต่อพระพุทธศาสนา ถึง พ.ศ. 5,000 จึงจะหาวัสดุมาสร้างพระพุทธรูปนี้ วิตกว่า หากใช้ไม้ก็จะไม่อยู่ถึง 5,000 ปี หากใช้เหล็ก ก็อาจจะถูกนำไปหลอมละลาย หากจะใช้หินศิลาธรรมดา ก็จะดูเป็นพระพุทธรูปสามัญทั่วไป จึงได้ตกลงใจเลือกใช้แก้วมณี มาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป

พ.ศ.1260-1270 พระวิษณุราชบุตร ได้นำแก้วโลกาทิพยรัตตนายก สีเขียวทึบ (หยกอ่อนเนไฟรต์สีเขียวมรกต) มาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป ศิลปะก่อนเชียงแสน ถึงศิลปะเชียงแสน สำเร็จในเวลา 7 วัน แล้วบรรจุพระบรมสารีริกธาตุลงไป 7 จุด คือพระโมลี พระนลาฏ พระนาภี พระหัตถ์ซ้าย-ขวา และพระเพลาซ้าย-ขวา ตอนแรกพระนามว่า พระพุทธรัตนพรรณมณีมรกต แต่เมื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานที่วัดแล้ว เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้น พระนาคเสน ได้ทำนายเหตุการณ์ในอนาคต ไว้ว่า “ พระพุทธรูปองค์นี้จะเสด็จไปโปรดสรรพสัตว์ ทำให้พุทธศาสนามีความสำคัญโชติช่วงสูงสุดใน 5 ดินแดน คือ ลังกาทวีป กัมโพชะศรีอโยธยา โยนะวิสัย ปะมะหละวิสัย และสุวรรณภูมิ..

พ.ศ. 1400 เปลี่ยนกษัตริย์อีกหลายพระองค์ ตรงสมัยพระศิริกิตติ ได้ยกกองทัพไปยึดนครละโว้ แต่มีการจลาจลเกิดสงครามกลางเมือง ในนครโพธิ์ไชยา ศึกสงครามทำให้คนล้มตายเป็นอันมาก พวกข้าราชบริพารรักษาพระแก้วมรกต เห็นท่าไม่ดี กลัวพระจะเสียหาย จึงลักลอบอัญเชิญพระแก้วมรกต ขึ้นสู่เรือสำเภาลำหนึ่ง พร้อมกับพระธรรมปิฏก พากันหนีไปสู่กัมโพชวิสัย (ลังกาทวีปนครศรีธรรมราช) มีกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์ปกครองอยู่ ทรงรับรักษาพระแก้วมรกตเป็นอย่างดียิ่ง และพุทธศาสนาก็เจริญรุ่งเรือง กษัตริย์ขอมที่เมืองพระนครอินทรปัต (เขมร) ถูกกวาดล้าง ธิดาของกษัตริย์มาเป็นมเหสีของพระเจ้ากรุงละโว้ มีพระโอรส คือ พระอาทิตยราช ต่อมาได้ย้ายพระนครจากละโว้กลับมายังนครอโยชฌปุระโบราณ ตรงเมืองอู่ทอง

ต่อมาพระเจ้าอนุรุธ แห่งมอญอีกพระองค์หนึ่ง (คนโบราณเรียกกษัตริย์ทางมอญว่า พระเจ้าอนุรุธ ทุกพระองค์) ได้ยกกองทัพม้า มาเอาพระแก้วมรกตที่ลังกาทวีป (นครศรีธรรมราช) แล้วนำพระไตรปิฏก กับพระแก้วมรกต ลงเรือหวังจะนำกลับเมืองมอญ แต่เรือสำเภา มีพวกราชวงศ์ไศเลนทร์ได้ปลอมลงมาบนเรือด้วย แล้วสังหารทหารมอญที่คุมเรือเสีย จากนั้นก็นำเรือสำเภา มุ่งหนีไปยังนครอินทปัตรนครวัต (กัมพูชา) ได้

พ.ศ. 1432 – 1453 พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ราชวงศ์เขมร มีอำนาจมาก ได้ปราบปรามหัวเมืองใกล้เคียงที่อยู่ในอำนาจดินแดนไทย เมืองหลายแห่งต้องส่งส่วยให้พระองค์ เมื่อพวกไศเลนทร์จากนครศรีธรรมราช นำเรือสำเภาพระแก้วมรกต เข้ามาถึงนครอินทรปัต พระองค์ทรงโสมนัสปลื้มปิติในองค์พระแก้วมรกตมาก ทรงส่งเสริมพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ จนเจริญรุ่งเรืองไปทั่วสกลทวีป มีชัยเหนือศาสนาพราหมณ์ ในดินแดนพระนครอินทรปัต พระองค์ยกปราสาทราชวัง ถวายแก่พระแก้วมรกต เป็นพระนครวัด แล้วพระองค์ก็ไปสร้างพระนครหลวงใหม่ ที่ยโศธรปุระ โดยเอาภูเขาพนมบาแค็ง (ผาแค็ง)เป็นใจกลางของพระนครหลวง แล้วโปรดให้นำพระไตรปิฏก ที่ติดมากับเรือสำเภา ส่งคืนไปให้พระเจ้าอนุรุธ แห่งมอญ เมื่อพระเจ้าอนุรุธไม่ได้พระแก้วมรกตคืน ก็ทรงได้ติดตามโดยปลอมเป็นราษฎร ไปสืบเรื่องพระแก้วมรกต ด้วยตนเอง เมื่อรู้ว่าตกไปอยู่ในเมืองอินทรปัต พระองค์ก็ไม่กล้าตามไปแย่งเอามา เพราะตอนนั้นพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ เรืองอำนาจมีพระเดชานุภาพมากมีลูกหลานของพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ปกครองอีก 6 พระองค์ ราชวงศ์ใหม่ตั้งนครหลวงที่โคห์แกร์ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ได้มาแย่งชิงเมืองได้ มีการกวาดล้างพวกเจ้านายขอม จนบางพวกต้องหนีไปพึ่งพวกไศเลนทร์วงศ์ที่เมืองละโว้ ต่อมาอีกหลายสิบปี พวกเขมรชวนกันก่อการกบฏปราบขอม พระเถระต้องพาพระแก้วมรกตหนีไปอยู่ที่ปราสาทตาแก้ว ซึ่งมีพวกไศเลนทร์อยู่ ข่าวการเกิดจลาจลในนครอินทรปัต ทราบไปถึงพระเจ้าอาทิตย์ราช กษัตริย์แห่งกรุงอโยธยาปุระในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่านเป็นลูกหลานของกษัตริย์นครโพธิ์ชัยยา ผู้สร้างพระแก้วมรกต พระองค์จึงทรงเป็นห่วงพระแก้วมรกตมาก เกรงพวกเขมรที่นับถือพระศิวะ จะทำลาย แล้วตั้งศิวลึงค์แทน จึงรีบยกทัพทหารเป็นอันมากไปอัญเชิญพระแก้วมรกต แล้วกวาดต้อนผู้คนมาเป็นอันมาก กลับมายังกรุงอโยธยาปุระ ที่หนองโสน โดยทรงอัญเชิญพระแก้วมรกต ประดิษฐานในพระมหาเวชยันตปราสาท และได้ประดิษฐานในนครอโยธยาอีกหลายรัชสมัย

พระสุริยวรมันที่ 1 โอรสของพระเจ้ากรุงตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) มาแย่งราชสมบัติจากราชวงศ์เขมรเดิมได้ จนครองกรุงกัมพูชา จึงปราบไปทั่ว โบราณสถานที่สร้างในสมัยพระองค์ มีปราสาทพิมานากาศ ปราสาทตาแก้ว และ “ปราสาทเขาพระวิหาร”ที่เป็นดินแดนพิพาทขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา จนถึงทุกวันนี้ ถูกสร้างโดยบรรพบุรุษของชาวนครศรีธรรมราช นั่นเอง, พระอาทิตยราชสวรรคต พระยาจันทโชติอำมาตย์ พระสามีของเจ้าฟ้าปฏิมาสุดาจันทร์เป็นกษัตริย์องค์ต่อมา แล้วย้ายนครหลวงจากอโยชฌปุระ ไปนครละโว้ตามเดิม

พระเจ้าอโนรธามังฉ่อ กษัตริย์มอญ ทราบข่าวการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน จึงยกทัพมาล้อมเมืองละโว้ไว้ พระเจ้าจันทโชติเห็นว่าไม่สามารถสู้กับกองทัพมอญได้ จึงถวายพระพี่นางให้กษัตริย์มอญ-พม่า เป็นอัครมเหสีเพื่อแสดงพระราชไมตรี ต่อมามีโอรสเป็น พระนเรศวรหงศา ส่วนทางอโยธยา มีโอรสเป็นพระนารายณ์ ต่อมากษัตริย์มอญ เกิดวิวาทกับบุตร พระนารายณ์จึงเกลี้ยกล่อมชาวไทยและมอญ ที่อยู่ทางกรุงหงศาหนีกลับมาได้จำนวนมาก พอพระบิดาสวรรคต พระนารายณ์ได้ครองราชย์ต่อ ก็ย้ายนครหลวงกลับไปอโยชฌปุระอีก

พระนเรศวรหงศา ยกกำลังพล 4 แสน มาปิดล้อมกรุงอโยชฌปุระ แล้วมีการก่อเจดีย์พนันเมืองกัน พระเรศวรหงศาแพ้ ยกทัพกลับไป พระนารายณ์ได้ไปสร้างพระปรางค์สามยอดเมืองละโว้ เป็นมณเฑียรธรรม ในพระพุทธศาสนาอุทิศให้บรรพบุรุษ แล้วขนานนามเมืองละโว้ใหม่ว่า เมืองลพบุรี แล้วลงไปสร้างพระนครอโยธยาใหม่อยู่ท้ายเมือง ไปวัดโปรดสัตว์

ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ได้ทรงสร้างปราสาทนครวัด ตรงพระนครที่พระปทุมสุริยวงศ์ ถวายแก่พระแก้วมรกตและบรรพบุรุษ โดยสร้างเป็นปรางค์ขอม มีเก้ายอดเป็นสัญลักษณ์แสดงว่า กษัตริย์ผู้ทำให้ศาสนาเจริญรุ่งเรือง ยอดปราสาททั้งเก้ายอดปิดทองเหลืองอร่าม ตามแบบไศเลนทร์ อโยธยา อ่อนแอ ใกล้ล่มสลาย เจ้าพระยากำแพงเพชร ซึ่งเป็นพระบรมญาติกับกษัตริย์สมัยนั้น ยกกองทัพเรือล่องลงมาทูลขอ นำพระแก้วมรกตจากนครอโยธยา ขึ้นไปประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชรอีกหลายรัชสมัย ปัจจุบันก็คือวัดพระแก้วกำแพงเพชร ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ในแถบทุ่งเศรษฐีจึงมักพบพระพิมพ์ต่าง ๆเช่น พระจำพวกซุ้มกอ พระกำแพง ลีลาต่าง ๆ (ช่วงนี้เป็นช่วงสร้างกรุงสุโขทัยตามเรื่องเดิมที่

https://www.facebook.com/media/set/?set=a.228199420703426.1073741969.187529244770444&type=1 )

สมัยพระเจ้ากือนา ครองเมืองนครพิงค์เชียงใหม่ พระอนุชาชื่อเจ้ามหาพรหม ครองเมืองเชียงราย ได้ยกกองทัพมา 8 หมื่น ไปเมืองกำแพงเพชร ในสมัยพระเจ้าติปัญญา (พระยาญาณดิศ) ครองเมือง และทูลขอพระพระแก้วมรกต และ พระพุทธสิหิงค์ แล้วเอาขึ้นไปประดิษฐานที่เมืองเชียงราย ขุนหลวงพะงั่ว แห่งอโยธยา ทราบข่าวยกกองทัพไปช่วย แต่เจ้ามหาพรหม ได้ยกทัพนำพระพุทธรูปไปเสียแล้ว

เจ้าเมืองเชียงราย พร้อมด้วยราษฎร จึงทำการสมโภช สรงน้ำแก่องค์พระแก้วมรกต ใครมีศรัทธาอันบริสุทธิ์ ด้วยบุญญาธิคุณ มีศีล มีทาน อุปัฏฐากแก่บิดามารดา เมื่อสรงน้ำจะโดนองค์พระ ถ้าคนชั่วจะไม่โดนเลย ทำให้คนชั่วก็ไม่กล้าไปสรงน้ำ ต้องกลับใจขอขมาต่อองค์พระแก้ว เป็นคนดี ไม่ประพฤติชั่ว จึงไปสรงนำพระแก้วมรกตได้เหมือนคนอื่นๆ บ้านเมืองก็บังเกิดความร่มเย็นสงบสุขทั่วดินแดนแห่งนั้น

ต่อมาเมื่อพระเจ้าแสนเมือง โอรสพระเจ้ากือนา เชียงใหม่ ได้ยกกองทัพไปรบ กับเจ้ามหาพรหมผู้เป็นพระเจ้าอา ด้วยความเป็นห่วงในพระแก้วมรกต ท่านจึงได้ทำการพอกปูนจนทึบ และลงรักปิดทองเสมือนพระพุทธรูปสามัญทั่วไป แล้วบรรจุซ่อนไว้ในเจดีย์วัดป่าญะ ต.เวียง เมืองเชียงราย (ปัจจุบันคือวัดพระแก้ว เชียงราย ) โดยไม่มีใครรู้ แม้พระเจ้าแสนเมืองชนะ เข้าเมืองเชียงรายได้ ก็พบแต่พระพุทธสิหิงค์องค์เดียว นำกลับมาเมืองเชียงใหม่ แต่ไม่พบพระแก้วมรกต ฟ้าได้ผ่าลงองค์พระเจดีย์จนพังทลายลง จึงพบพระพุทธรูปซ่อนอยู่ ได้นำไปไว้ในวิหาร 2-3เดือนต่อมา ขณะทำความสะอาดพระพุทธรูป ทองและรักของพระพุทธรูป กะเทาะออกมาจากพระกรรณ และปลายพระนาสิก เห็นข้างในเป็นแก้วสีเขียวสุกใส เจ้าอาวาสกะเทาะทองและรักที่หุ้มออกหมด ปรากฏว่าเป็นองค์พระแกะสลัก จากหยกเขียวเพียงชิ้นเดียวทั้งองค์ และปราศจากริ้วรอยหรือตำหนิใดๆ ทั้งสิ้น ที่หายสาบสูญไปนานแล้วนั่นเอง ชาวเชียงราย และพุทธศาสนิกชนใกล้เคียง ต่างแห่กันมาสักการบูชาพระแก้วมรกตกันอย่างล้มหลาม จนเจ้าเมืองเชียงรายได้รับทราบ

พระเจ้าพิลก เมืองเชียงใหม่ทราบข่าวการพบพระแก้วมรกต ก็ให้อัญเชิญมาสู่เมืองเชียงใหม่ โดยจัดขบวนช้างอัญเชิญจากเมืองเชียงราย ถึงเมือง ไชยสัก ปรากฏว่าพระแก้วมรกต กลับมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นในทันที จนช้างที่อัญเชิญทนไม่ไหว เกิดตื่นตระหนก ต้องอัญเชิญพระแก้วมรกตลงพักไว้ และมีการเปลี่ยนช้างอีกหลายเชือกก็ยังเหมือนเดิม จึงส่งคนไปกราบทูลพระเจ้าพิลกให้ทรงทราบ พระองค์จึงจึงเกรงผลที่จะตามมา และตรึกตรองว่า พระแก้วมรกตคงยังไม่มาโปรดเมืองเชียงใหม่ เหมือนเมื่อครั้งพระพุทธองค์ยังพระชนม์อยู่ ย่อมเห็นว่ามีเวไนยชน ณ ที่ใด ที่พระองค์ควรจะเสด็จไปโปรดได้ ครั้งนี้พระแก้วมรกตคงจะเสด็จไปโปรดที่แห่งใดก่อนเป็นแน่แท้ พระเจ้าพิลกจึงให้เขียนชื่อเมืองเชียงใหม่ เมืองหริภุญชัย เมืองพะเยา และเมืองเขลางค์นคร (ลำปาง) แล้วให้เสี่ยงทายจับฉลาก ปรากฏว่าจับได้เมืองเขลางค์นคร ก็อนุญาตให้อัญเชิญไปได้ พระแก้วมรกตก็ลดน้ำหนักลง อัญเชิญขึ้นช้างได้โดยสะดวก นำพระแก้วมรกตไปสู่เขลางค์นคร ชาวเมืองก็ปิติยินดีปรีดายิ่งนัก ที่จะได้พระแก้วมรกตไว้นมัสการเป็นบุญแก่เขลางค์นคร เป็นเป็นที่ประดิษฐาน ที่วัดพระแก้ว

กษัตริย์เชียงใหม่องค์ต่อมา ได้โปรดให้ก่อสร้างเจดีย์หลวง (ราชกุฏ) ใหม่ สวยงามน่าเลื่อมใส ดังพระธาตุจุฬามณีเจดีย์ในสวรรค์ แล้วจึงให้อัญเชิญพระแก้วมรกต จากเขลางค์นครไปประดิษฐานไว้ในราชกุฏที่เชียงใหม่ และให้สร้างปราสาทขึ้นมาภายในวัดแห่งนั้น ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต แต่ก็เกิดฟ้าผ่า ทำให้ยอดปราสาทเสียหาย จึงล้มเลิกไป เก็บรักษาพระแก้วมรกตไว้ภายในตู้ และนำออกมาแสดงให้ประชาชนได้ชมเป็นบางโอกาส พระแก้วมรกตได้ประดิษฐาน ณ เมืองเชียงใหม่ ต่อมาเจ้าเมืองเชียงใหม่สมัยนั้น จัดส่งพระธิดามาถวายให้เป็นพระอัครมเหสี พระเจ้าโพธิสารราชาธิราช แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต เวียงจันทน์ จนมีโอรสด้วยกันทรงพระนามว่า พระเจ้าไชยเชษฐา และได้ครองเมืองเชียงใหม่ในเวลาต่อมา

พระเจ้าไชยเชษฐา ทราบข่าวการสวรรคตของพระราชบิดา จึงเดินทางกลับไปถวายพระเพลิง ที่หลวงพระบาง แต่ด้วยพระองค์เกรงว่าหากเสด็จไปรวมงานพิธีศพของพระบิดาแล้ว อาจจะถูกกีดกันไม่ให้เสด็จกลับมายังเชียงใหม่ ดังนั้นจึงตัดสินพระทัย อัญเชิญพระแก้วมรกต และพระพุทธสิหิงค์ จากเมืองเชียงใหม่ขึ้นไปด้วย ต่อมาทรงทำศึกอย่างหนัก กับกองทัพ ของพระเจ้าบุเรงนอง พม่า ที่ยึดเชียงแสน เพื่อบุกเข้าโจมตีทางตอนใต้ของแม่น้ำโขง

ขุนนางล้านนา (เชียงใหม่)รอพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเสด็จกลับ มาครองราชย์บัลลังก์ต่อไปไม่ไหว จึงได้หารัชทายาทแห่งราชวงศ์มังรายขึ้นครองราชย์สมบัติแทน เป็นญาติห่างๆ ของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช คือ พระเจ้าเมกุฏิ ต่อมาทางเชียงใหม่ ได้ขอพระพุทธรูปทั้งสององค์คืน แต่ได้คืนเฉพาะพระพุทธสิหิงค์องค์เดียว

พระเจ้าไชยเชษฐา ได้ตัดสินใจย้ายและสร้างราชธานีขึ้นใหม่ที่เมืองเวียงจันทน์ เวียงจันทน์ เรียกว่าเวียงจันทน์ล้านช้าง จึงอัญเชิญพระแก้วมรกต พระพุทธสิหิงค์ และพระบาง ไปประดิษฐานที่พระมหาปราสาทสามยอด ซึ่งสร้างอย่างสวยวิจิตรพิสดาร พระแก้วมรกตได้อยู่นครเวียงจันทน์ เป็นที่สักการบูชาของประชาชน และกษัตริย์ จนถึงสิ้นกรุงศรีอยุธยาแตก เสียแก่พม่า

พ.ศ. 2310 ครั้งนั้นพระเจ้าตากสิน ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง เป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองตาก ได้ลงมาช่วยป้องกันกรุงศรีอยุธยา ทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาจะแตกแน่ เพราะคนไทยแตกความสามัคคี จึงรวบรวมไพร่พลตีฝ่าวงล้อมของพม่า มาตั้งกำลังพลอยู่ที่จันทบุรี ต่อมาก็ยกทัพมาตีพม่าแตกพ่ายที่โพธิ์สามต้น และปราบก๊กต่างๆ ที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ได้สำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก ในช่วงระยะเวลาอันสั้น พระเจ้าตากสินทรงสามารถผนึกแผ่นดินสร้างเป็นราชธานีได้ใหม่อีกครั้ง จากนั้นก็ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์สืบวงศ์สยาม ยกกรุงธนบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวง แผ่ขยายขอบเขตอาณาจักรให้กว้างขวาง แผ่ไพศาลยิ่งกว่าครั้งกรุงเก่า

พ.ศ. 2319 เกิดศึกไทย กับพม่า อะแซหวุ่นกี้ ขณะนั้นเจ้าเมืองนางรอง เมืองขึ้นของนครราชสีมา เอาใจออกห่างไปขึ้นกับจำปาศักดิ์ พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้ เจ้าพระยาจักรี กับ เจ้าพระยาสุรสีห์ เป็นแม่ทัพยกไปปราบ กองทัพไทยตีชนะจำปาศักดิ์ได้ ได้อาณาเขตลาวใต้ มีจำปาศักดิ์ สีทันดร อัตปือ และเขมรป่าดง แถบเมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ และเมืองขุขัน (ในเขตจังหวัดศรีสะเกษ รวมเขต “เขาพระวิหาร” ไว้ด้วย) มาในราชอาณาเขต ครั้งนั้นพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ให้เจ้าพระยานครราชเสมา ส่งราชสารขึ้นไปยังเมืองเวียงจันทน์บุรี ให้มาขึ้นแก่กรุงธนบุรี เหมือนกับเมืองต่าง ๆ เช่น ชวา มาลายู กัมพูชา กะเหรี่ยง ลาวเชียงใหม่ และญวนก็มาขึ้นแล้ว แต่พระเจ้าเวียงจันทน์ไม่ยอมอ่อน กับไทย

พ.ศ. 2321 เสนาบดีพระวอ ทะเลาะกับเจ้าบุญสาร เมืองเมืองศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทร์) พระวอสู้ไม่ได้ จึงหนีอพยพเข้ามาอยู่ที่ตำบลดอนมดแดง (อุบลราชธานี )ขอสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่ต่อมาเจ้าบุญสารไม่พอใจ จึงให้ทหารลงมาจับพระวอฆ่าทิ้ง พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเห็นเป็นการละเมิดอำนาจดินแดนไทย จึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ยกไปทางบก รวมพลอยู่ที่นครราชสีมา ส่วนเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกทัพเรือไปทางแม่น้ำโขง ตีหัวเมืองรายทาง ขึ้นไปจนถึงเมืองเวียงจันทร์ เจ้าร่มขาว เจ้าเมืองหลวงพระบางขอสวามิภักดิ์ไทย กองทัพไทยล้อมเวียงจันทร์อยู่ 4 เดือน เจ้าบุญสารสู้ไม่ได้ จึงหลบหนีไป ไทยจึงเข้าเมืองเวียงจันทร์ได้ กวาดต้อนผู้คน เวียงจันทร์ หลวงพระบาง เข้ามาไว้ในหัวเมืองชั้นในเป็นอันมาก กลายเป็นคนอีสานจนถึงปัจจุบัน และได้อัญเชิญพระแก้วมรกต และ พระบาง กลับลงมาพระนครธนบุรี พระเจ้าตากสินก็ให้สร้างโรงพระแก้ว ที่หลังพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม แล้วก็อัญเชิญพระแก้วมรกต กับพระบาง ขึ้นประดิษฐาน

พ.ศ. 2325 สิ้นสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก ปราบดาภิเษกขึ้นเสวยสิริราชสมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ร.1)ทรงพระราชดำริว่า พระพุทธรัตนปฏิมากร พระองค์นี้เป็นแก้วอย่างดีวิเศษ จึงทรงสถาปนาสร้างพระอุโบสถในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งประดับประดาสวยงามวิจิตรยิ่งนัก พ.ศ. 2327 ปีมะโรง วันจันทร์ แรม 12 ค่ำ เดือน 4 ทรงอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ลงบุษบกเรือพระที่นั่ง เสด็จข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มาประดิษฐานต้องอุโบสถหลังใหม่ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เฉลิมฉลองเป็นเวลาสามวันสามคืน ทรงถวายพระนามนครใหม่ ให้เหมาะที่เก็บรักษาพระแก้วมรกต ของพระเจ้าอยู่หัวผู้สร้างพระนคร และต้องกับนามพระพุทธรัตนปฏิมากร ว่า “ กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยาบรมราชธานี “ ส่วนองค์พระบาง ก็พระราชทานคืนให้กับประเทศลาว ไป สมัยสร้างแต่เดิมนั้นองค์พระแก้วมรกต ฝังเพชรเม็ดเล็กไว้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ (ร.4) ได้ถวายเพชรเม็ดใหญ่ เปลี่ยนเพชรเดิมออกเส้นทางพระแก้วมรกต และจำนวนปีที่ประดิษฐาน มีดังนี้

ไชยา (ปาฏลีบุตร) รวม 140 ปี, นครศรีธรรมราช (ตามพรลิงค์) รวม 32 ปี, นครวัด (เขมร) รวม 113 ปี, ลพบุรี (ละโว้) รวม 47 ปี, อโยธยา (อู่ทอง) รวม 138 ปี, กำแพงเพชร รวม 170 ปี, เชียงราย รวม 119 ปี, ลำปาง รวม 4 ปี, เชียงใหม่ รวม 73 ปี, หลวงพระบาง (ลาว) รวม 12 ปี, เวียงจันทน์ (ลาว) รวม 215 ปี, ธนบุรี รวม 5 ปี, กรุงเทพฯ พ.ศ. 2327 – ปัจจุบัน..ราว 230 ปี…อายุพระแก้วมรกตจึงประมาณ 1,300 ปี

พระแก้วมรกต นั้นแต่เดิมเป็นพระพุทธรูปของไชยา และสุดท้ายไปอยู่เชียงใหม่ แล้วถูกนำไปที่หลวงพระบาง และ เวียงจันทร์ อาณาจักรธนบุรีได้ไปชิงคืนมาจากอาณาจักรล้านช้าง (ลาว) แต่ปัจจุบันเชียงใหม่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ก็ต้องถือว่าเป็นพระพุทธรูปของไทยไปแล้ว แต่ถ้าปัจจุบันเชียงใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของลาว ก็อาจถือไอ้ว่าเป็นพระของลาว ก็ขึ้นอยู่กับเขตแดนประเทศในปัจจุบันนั่นเอง

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวไทย การเสด็จไปสู่สถานที่ต่างๆ ของพระแก้วมรกตนั้นมีปัจจัย 3 อย่าง คือ เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา เกิดกลียุคในอาณาจักรนั้น และด้วยความรักและเมตตา เดินทางไปที่ต่างๆ ตามคำทำนายของพระนาคเสนเถระ ผู้สร้างองค์พระพุทธรูปนี้ จะอยู่ในพุทธศาสนาถึง 5,000 ปี

เวลานี้ แผ่นดินไทยมีบุญญาบารมีขององค์พระมหากษตริย์ ผู้ทรงเปี่ยมด้วยทศพิศราชธรรม องค์พระแก้วมรกตก็จะทรงอยู่คู่บารมี หากแม้นเมื่อใดที่แผ่นดินไทย ไร้ซึ่งคุณธรรมของผู้คนและปราศจากบารมีของพระมหาษัตริย์ เมื่อนั้นองค์พระแก้วมรกต ก็อาจจะไม่โปรดอยู่ให้เราสักการะ

เครดิตจาก เพจ แฉ..ความลับ


ที่มา https://kuakiddeedee2.wordpress.com

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้